ตำรับรัก

ตำรับรัก

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

 
สำหรับบรรณาภิรมย์ ลำดับที่ 190 นี้ ผมขอนำเสนอผลงานชิ้นเอกที่นักอ่านหลายท่านรู้จักกันดีก็คือ ตำรับรัก ของ ‘เทิดพงศ์’

แท้จริงแล้ว เทิดพงศ์ ก็คือนามปากกาแรกในชีวิตของ ชูวงศ์ ฉายะจินดา ราชินีนิยายพาฝันที่มีผลงานเลื่องชื่อเรื่องต่างๆ จำนวนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น จำเลยรัก สุดสายป่าน พระจันทร์แดง มณีมรณะ ฝันเฟื่อง และอีกมากมาย

ตำรับรัก จึงเปรียบเสมือนหมุดหมายแรกบนถนนนักเขียนของท่าน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นจากนิตยสาร ศรีสัปดาห์ ในช่วงปี พ.ศ. 2500 หรือกว่าหกสิบปี ที่ผ่านมา โดยที่ผู้เขียนเองได้เขียนไว้ในคำนำว่า หากเรื่อง ‘ตำรับรัก’ นี้มีส่วนดีอยู่บ้าง ขออุทิศแด่ดวงวิญญาณของ ‘ดอกไม้สด’ ซึ่งผู้เขียนถือเป็นดวงประทีปในด้านการประพันธ์ของท่าน

และสำหรับสาเหตุของการเปลี่ยนนามปากกาจากเทิดพงศ์ มาเป็น ชูวงศ์ ฉายะจินดา นั้น ผู้เขียนเองก็ได้เขียนเล่าไว้ในส่วนคำนำของหนังสือ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2503 ความตอนหนึ่งว่า

ข้าพเจ้าตั้งนามปากกา เทิดพงศ์ ขึ้น ก็ด้วยเจตนาที่จะได้ใช้ตลอดไปตามธรรมเนียมของนักเขียนส่วนมาก แต่การณ์กลับปรากฏในภายหลังว่า มีผู้ใช้นามปากกา “เทิดพงศ์” ถึงสองคนด้วยกัน และด้วยเหตุที่ข้าพเจ้าเพิ่งเริ่มหัดเขียนนวนิยายขนาดยาวเป็นเรื่องแรก คือเรื่อง ตำรับรัก นี้ ข้าพเจ้าจึงต้องยอมรับอย่างหน้าชื่นว่า คงจะเป็นเพราะความไม่รอบคอบของข้าพเจ้าเอง ที่ไปใช้นามปากกาซ้ำกับของท่านผู้อื่น ซึ่งได้ใช้อยู่ก่อนแล้ว เพื่อแก้ไขความผิดพลาดของตนเอง ข้าพเจ้าจึงได้วงเล็บชื่อจริงไว้ท้ายนามปากกา

และนามปากกาเทิดพงศ์ที่พบ จึงมีเพียงนวนิยาย ตำรับรัก ฉบับพิมพ์ครั้งแรก กับ รวมเรื่องสั้น ‘ระแวงรัก’ ที่พิมพ์รวมเล่มในช่วงเวลาเดียวกันเท่านั้น และต่อมาภายหลัง นอกจากนามปากกา ชูวงศ์ ฉายะจินดา ที่นักอ่านรู้จักกันดีแล้ว ท่านยังมีนามปากกาอื่นอีกเป็นจำนวนมาก เช่น กล้วยไม้ ณ วังไพร (สุดสายป่าน เสี้ยนชีวิต) กรทอง (ชีวิตผวา) ประกายแก้ว (เทพบุตรในฝัน) แก้วเจียระไน (พระเอกในความมืด) หรือ อมฤตกร (กำแพงเงินตรา) เป็นต้น

ชูวงศ์ ฉายะจินดา

สำหรับ ตำรับรัก ฉบับพิมพ์ครั้งแรก เนื้อหาจะมีทั้งสิ้น 50 บท สองเล่มจบ สองภาค โดยมี เรื่องสั้น อารมณ์ลวง และ ฆาตกรรมที่โต๊ะบิลเลียด แถมท้ายมาด้วย แต่สำหรับในฉบับพิมพ์ปี พ.ศ. 2564 ของสำนักพิมพ์แสงดาว จะแบ่งเป็นสามภาค ประกอบด้วย ภาค 1 แรกรุ่น ภาค 2 เจริญวัย และเพิ่มเติมในภาคที่สาม อันเป็นห้วงเวลา ณ ปัจจุบัน ของตัวละครเอกทั้งหมด (พ.ศ.2552) คือ ภาคปัจฉิมวัย

ในภาคแรกรุ่น บอกเล่าเรื่องราวชีวิตอันรื่นรมย์ ของเด็กหนุ่มรูปงามชาวเมืองเพชร ผู้มีนามว่า ประณต ปริวรรตกุล กับเด็กสาวที่เขาคบหาด้วยคือกระเช้า รวมถึงสหายสนิทอย่างประภาส ที่มาล่องเรือลอยกระทงในคืนวันเพ็ญ และเป็นช่วงเวลาที่เด็กทั้งสามใกล้จะเรียนจบการศึกษา คืนนั้นประภาสได้พบตุ๊กตาเซลลูลอยด์ตัวจิ๋วที่ลอยมาพร้อมกระทงใบหนึ่ง ความน่ารักของมันทำให้เขาเก็บเอาไว้โดยไม่รู้ว่าเจ้าของกระทงน้อยผู้นี้เป็นใคร

+++++++++++++++++++

ครอบครัวของประภาสเป็นครอบครัวยากจน มีพ่อเลี้ยงที่ทำร้ายมารดาและตัวเขาอยู่เสมอ จนต้องอยู่ด้วยความอดทน จนมาถึงขีดสุดในเช้าวันรุ่งขึ้นที่เขากลับมานั่นเอง เด็กหนุ่มตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ก่อนจะมาสิ้นสติลงที่หน้าจวนของข้าหลวงเมืองเพชร โดยคุณแต้ว หรือฉมชบา ลูกสาวคนเดียวของท่านข้าหลวงได้พบเข้า ด้วยความเมตตาเด็กหญิงตัวน้อย ได้ขอให้คนในบ้านช่วยเหลือ และเมื่อได้รับรู้เรื่องราวของประภาส ทำให้ท่านข้าหลวงเกิดความเอ็นดูสงสาร จนรับอุปการะเด็กหนุ่มเอาไว้ ประภาสซาบซึ้งในน้ำใจของท่านข้าหลวง และรับรู้ภายหลังว่าเจ้าของตุ๊กตาตัวนั้นก็คือคุณแต้วนั่นเอง

เด็กหญิงตัวน้อยที่จิตใจงดงาม ซึ่งประภาสไม่รู้เลยว่าในอนาคตหัวใจของเขาจะยอมศิโรราบให้กับเธอเพียงผู้เดียว!

ในเวลาเดียวกัน ทั้งสามคนรวมถึงคุณแต้วก็มีโอกาสได้พบกับมิตรภาพกับเพื่อนใหม่ที่เดินทางมาจากพระนคร คือบรรดาลูกๆ ของพระยาพิษณุเสนาทั้งห้าคน คุณต้น ศุลกวัณณ์ ผู้โอบอ้อมอารี คุณใหญ่ พันธุ์เมธางค์ ผู้ถือตัว คุณกลาง สอางอัปสร คุณเล็ก บังอรสุวรรณี ผู้มีท่าทีเข้มคม และ คุณอ่อน รุจีประภา ผู้อ่อนโยน เป็นน้องเล็กสุดของครอบครัว และในห้วงเวลาสั้นๆ ที่ได้ท่องเที่ยวในเมืองเพชรบุรีด้วยกัน คือความผูกพัน ระหว่างบรรดาเด็กๆ เหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะคุณหนูเล็กที่ประณตจดจำได้ดีว่า “มีฝีปากกล้า ช่างรู้ทัน และแก่แดดแก่ลมเสียจนน่าจะแกล้งจับกดน้ำเสียให้เข็ดคนนั้น!”

หลังจบการศึกษา ประภาสและแต้วต่างก็ย้ายตามบิดาไปยังกรุงเทพฯ ประภาสตั้งใจที่จะเรียนแพทย์เพราะหัวดีมาตั้งแต่ต้น ขณะที่ประณตและกระเช้าเมื่อเรียนจบ เด็กสาวที่ฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยาน ตัดสินใจไปทำงานอยู่กับพันผู้เป็นน้าสาวที่กรุงเทพฯ ขณะที่ประณตเองบัดนี้ก็ได้ทำงานเป็นเสมียนที่ในจังหวัด จนกระทั่งคุณเนตร บิดาของเขา มาบอกว่าจะส่งเสียให้เขาเรียนต่อมหาวิทยาลัย และจากนั้น เส้นทางชีวิตของเด็กแต่ละคน ก็เริ่มต้นขึ้น…

เหตุการณ์ในภาคสอง เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต่างก็เจริญวัย เติบโตเป็นหนุ่มสาว คุณหนูเล็ก หรือบังอรสุวรรณี และ คุณแต้ว ฉมชบา ต่างก็ได้เข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ส่วน ‘พี่ภาส’ ก็กำลังจะเรียนจบกลับมาเป็นนายแพทย์หนุ่มอนาคตไกล ในเวลานั้นเอง ที่สายลมแห่งโชคชะตาได้พัดพาให้ทุกคนได้หวนกลับมาพบกันอีกครั้ง เมื่อคุณแต้วได้ชวนคุณหนูเล็กและคุณต้นให้ไปรอรับพี่ภาสของเธอที่กำลังเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ

และที่สนามบินนั้นเอง ที่บังอรสุวรรณี ได้พบกับ ‘เขา’ อีกครั้ง

ขณะนั้น ชายหนุ่มคนนั้นก็เงยหน้าขึ้นจากอาหาร สายตาของเขาพบกับบังอรสุวรรณีอย่างจัง ดวงตาสีเหล็กบนพื้นสีฟ้าอ่อนล้อมด้วยขนตาดกดำและยาว แต่ทว่าเหยียดตรงมองประสานกับดวงตาสีนิลแจ่มจรัสของหญิงสาวนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ทันใดนั้นคำตอบก็วิ่งเข้าสู่จิตสำนึกของฝ่ายหญิงอย่างรวดเร็ว

หล่อนนึกเห็นภาพเด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินไปมาอยู่บนเนินเขา ซึ่งมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของดอกลั่นทมซาบซ่านอยู่ในบรรยากาศ… แล้วเขาก็เอ่ยบทกวีอันไพเราะซึ่งจดจำได้อย่างแม่นยำออกมา ช่างน่าฟังทั้งน้ำเสียง น่าดูทั้งสีหน้าท่าทาง และน่าชมทั้งแววตาอันแสดงความซาบซึ้งในความงามนั้นอย่างจริงใจ…

“ผมจะไม่ลืมและแน่ใจว่าเราคงได้พบกันอีก!”

ประณตเรียนจบปริญญาโทจากอังกฤษ และทำงานฝ่ายพิธีกรข่าวทางสถานีโทรทัศน์ชื่อดัง เขาเดินทางมารับประภาส เพื่อนรักที่ยังติดต่อกันอยู่เสมอ โดยไม่คาดคิดว่าจะได้พบกับ เด็กหญิงหน้าคม ช่างเจรจาที่มีชื่อไพเราะคนนั้นอีกครั้ง ในขณะที่กระเช้าเอง บัดนี้ก็ทำงานร้านตัดเสื้อพรรณรายของผู้เป็นน้าสาว และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกระเช้ารัตน์

และการพบกับประณตนั้นเอง ทำให้บังอรสุวรรณีรู้ว่าเธอยังไม่เคยลืมภาพของเด็กหนุ่มในอดีตคนนั้นเลยสักนิดเดียว

ความผูกพันระหว่างสองหนุ่มสาวได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งอย่างงดงาม ในขณะที่มีตัวแปรสำคัญในอดีตเข้ามาขัดขวาง นั่นก็คือกระเช้า!

มีเพียงคุณต้นเท่านั้นที่มองเห็นภาพที่เกิดขึ้นนั้นด้วยความเข้าใจ เขารับรู้ว่าความรักที่ประณตเคยมีกับกระเช้า เป็นเพียงความรู้สึกลุ่มหลงของเด็กหนุ่มวัยเยาว์แรกรัก ขณะที่กระเช้าเอง ก็ไม่ใช่คนที่มั่นคงจริงจังกับประณต ดังนั้น เมื่อเห็นท่าทีสนใจของคุณต้น ซึ่งมีภาษีเหนือกว่า หล่อนจึงไม่ลังเลที่จะหันมาหาเขา และบอกเลิกกับประณตอย่างไม่สนใจไยดี ทำให้ประณตได้มีโอกาสล่วงรู้หัวใจของเขาเอง ว่าแท้จริงแล้ว ผู้หญิงที่เขารักคือบังอรสุวรรณี!

แม้จะไม่ได้รักใคร่กับกระเช้าเลย เพราะเขาเองมีสุนทรี เป็นหญิงสาวที่ชอบพอมาก่อน แต่เพื่อช่วยให้ความรักของสองหนุ่มสาวผู้เป็นน้องรักได้สัมฤทธิ์ผล ศุกลวัณณ์จึงยินดีที่จะคบหากับกระเช้า จนกระทั่งถึงกับหมั้นหมายหญิงสาวผู้นั้นเอาไว้

 

เรื่องราวความรักใน ตำรับรัก ภาคเจริญวัย ดำเนินผ่าน ความรักหลากรูปแบบ หลายคู่ โดยมีฉากหลังคือช่วงเวลา ต้นปี พ.ศ. 2500 ทั้งความรักที่แอบชอบ หากไม่กล้าแสดงออกของหมอประภาสผู้เจียมตัวเจียมใจ กับคุณแต้ว ทั้งที่ต่างก็มีหัวใจรักอย่างเต็มเปี่ยม ความรักที่ต้องแย่งชิงและเต็มไปด้วยความริษยาของกระเช้า ที่ต้องการทำลายความรักของทุกคน และสุดท้าย มันก็ทำให้เป้าหมายของหล่อนต้องพังพินาศ จนท้ายสุดเมื่อผิดหวังจากประณต และคุณต้นจนต้องถอนหมั้น กระเช้าจึงต้องหวนกลับมาแย่งคนรักไปจากอัญชันน้องสาวแท้ๆ ของตัวเองโดยไม่ละอายใจแม้แต่น้อย

นอกจากนี้ยังมีความรักที่เสียสละเพื่อน้องสาวสุดที่รักของ คุณต้น ศุกลวัณณ์ จนต้องยอมทุกข์เพราะความรักของตนเอง ความรักที่หวานชื่นแต่ก็ยังแฝงเร้นไปด้วยทิฐิมานะของ คุณหนูเล็กบังอรสุวรรณี กับความรักที่ซื่อตรงและชัดเจนของประณต ที่ใช้ความจริงใจเอาชนะหัวใจหญิงสาวที่เขารัก ซึ่งกว่าทุกอย่างจะลงตัว ก็เกือบจะสายเกินไป

รวมถึงปมของชาติกำเนิดของประณต ที่มิใช่เพียงเด็กหนุ่มยากจน แต่เขาก็คือหลานของพระยาบริรักษ์สกลเขต ที่มารดาคือคุณปารวตี หนีตามคุณเนตรไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันที่เมืองเพชรบุรีนั่นเอง

เรื่อง : ตำรับรัก

ผู้ขียน : เทิดพงศ์

สำนักพิมพ์ : คลังวิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2503

สองเล่มจบ

สำหรับในภาคสามอันเป็นภาคปัจฉิมวัยนั้น บอกเล่าเรื่องราวของ ท่านผู้หญิงบังอรสุวรรณี ปริวรรตกุล ที่เขียนบันทึกถึงงานแต่งงานของหลานชายคนโปรด เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งชีวิตของโมไนยหรือตาตั้ม หลานชาย ก็ไม่ต่างกันกับชีวิตของท่านในอดีต เมื่อไปหลงรักกับคนรักที่ต่างระดับชนชั้น ซึ่งในเวลานั้นนับว่าโชคดีที่เจ้าคุณพ่อของท่านผู้หญิงบังอรสุวรรณี แม้จะยังไม่รู้ความจริงว่าประณต เป็นหลานพระยาบริรักษ์ฯ แต่ท่านก็เข้าใจในความรักของประณต จึงมิได้ขัดขวาง

และเรื่องราวของสมาชิกในครอบครัวทุกคน ทั้งคุณต้นที่ภายหลังกระเช้าได้ถอนหมั้น ก็ได้กลับไปแต่งงานกับสุนทรี และมีความสุขในชีวิตครอบครัว คุณแต้วที่แต่งงานกับหมอประภาส น้องอ่อน ที่ได้แต่งงานกับคุณบรรเลง หรือพี่โป๋ ชายคนรักของเธอ จนภายหลังก็มีลูกแฝดด้วยกัน และตัวของเธอเองที่ได้ใช้ชีวิตกับประณตมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับ ตำรับรัก ที่นำมาสร้างเป็นละคร ผมจะคุ้นเคยกับเวอร์ชั่นละครช่อง 7 ในปี พ.ศ.2532 มากที่สุด เป็นเวอร์ชัน ที่นำแสดงโดย คุณสิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ ในบท คุณหนูเล็ก บังอรสุวรรณี คุณบดินทร์ ดุ๊ก ในบทของประณต คุณศตวรรษ ดุลยวิจิตร ในบทคุณต้น คุณกุ้ง ตวงสิทธิ์ เรียมจินดา ในบทนายแพทย์ประภาส คุณปิยะดา เพ็ญจินดา ในบท ฉมชบา หรือแต้ว และคุณจามจุรี เชิดโฉม ในบทของกระเช้า ที่แสดงได้อย่างโดดเด่น ไม่แพ้ตัวละครพระเอก นางเอก ในเรื่องเลยทีเดียวครับ

หมายเหตุ สำหรับภาพประกอบจากละคร ผมนำมาจากเว็บไซต์ pantip.com ครับ

 

Don`t copy text!