หนี้ที่ต้องชำระ

หนี้ที่ต้องชำระ

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

 

ผมเคยอ่านงานของ ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ มาบ้าง ได้แก่เรื่อง เล่ห์โลกีย์ ที่เป็นรวมเรื่องสั้นดำเนินเรื่องผ่านตัวละครเอก หรือ ฟ้าสีเลือด ด่านสมิง และ ไม่มีคำตอบจากสวรรค์ ซึ่งเป็นงานในช่วงหลังๆ ของผู้เขียน ที่เป็นแนวบู๊แอ็กชัน ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในขณะที่ยังไม่มีโอกาสได้อ่านงานเขียนในยุคแรกๆ ที่ได้ชื่อว่า เป็นแนวสะท้อนชีวิตสังคมได้อย่างถึงแก่น จนกระทั่งได้มีโอกาสอ่าน ‘หนี้ที่ต้องชำระ’ เรื่องนี้

สำหรับประวัติคร่าวๆ ของท่านนั้น ผมนำมาจากหนังสือ เพื่อนพ้องแห่งวันวาร ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้นำมารวบรวมและเรียบเรียงไว้อย่างละเอียด ซึ่งเขียนไว้ว่า

ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ (2461-2518) เป็นนักเขียน นักประพันธ์นักหนังสือพิมพ์ โดยเริ่มต้นงานเป็นคนตรวจปรู๊ฟประจำหนังสือพิมพ์ สุวัณณภูมิ ต่อมาเปลี่ยนอาชีพไปเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พนักงานเหมืองแร่ แม้แต่ครูโรงเรียนราษฏร์ รวมถึงทำงานอยู่ในองค์การยาสูบ ที่จังหวัดเชียงราย นานถึง 7 ปี

 

สำหรับเรื่องสั้นเรื่องแรกของท่าน คือ ความหมายแห่งน้ำตา พิมพ์ครั้งแรกในประชามิตร เมื่อ พ.ศ. 2483 ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตการประพันธ์ร่วมสมัยกับ อิสรา อมันตกุล เสนีย์ เสาวพงศ์ และ วิลาศ มณีวัต งานเขียนแนวอัตถนิยมยุคแรกของเขา ก็เช่น คนถูกสาป (พ.ศ.2494) นางฝีปอบที่รัก (พ.ศ. 2490)  นวนิยายแนวเพื่อชีวิต ก็เช่น แผ่นดินนี้ของใคร ทาสชีวิต เมืองทาส โศกนาฎกรรมของสัตว์เมือง หลังการรัฐประหารสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เปลี่ยนแนวเขียน โดยหันไปเขียนนวนิยายบู๊ตามรสนิยมของตลาด เช่น ทาสโลกีย์ ฟ้าสีเลือด และด่านสมิง เป็นต้น

 

หนี้ที่ต้องชำระ นี้ ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นขนาดยาวจำนวนสี่เรื่อง ประกอบด้วย หนี้ที่ต้องชำระ คืนนั้นพระจันทร์สีเลือด ราคาชีวิต และ แผ่นดินเดือด ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตสังคมในสไตล์ของ ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ ที่เข้มข้นสมจริง แม้ว่าจะมีบทรัก บทบู๊ผสมผสานแทรกอยู่บ้างตามขนบของนวนิยาย แต่แก่นของเรื่อง ก็จะออกไปในโทนหม่นทึบ และบางเรื่องก็จบลงอย่างโศกนาฏกรรมเลยทีเดียว ซึ่งผมจะขอนำเสนอไว้ เพียงสองสามเรื่องดังนี้ครับ

หนี้ที่ต้องชำระ อันเป็นเรื่องแรก บอกเล่าชีวิตของกฤษฎา นภาลัย นักข่าวหนุ่มที่มากอุดมการณ์ และความต้องการในการแก้ไขปัญหาของรัฐที่เกิดขึ้นในเวลานั้น กฤษฎ มีคนรักคือ ชะไม ซึ่งเป็นลูกสาวคนหนึ่งของเจ้าหลวงเมืองลอง อาณาจักร ที่อยู่ติดกับแผ่นดินไทย โดยมีน้องสาวที่มาอยู่เมืองไทยด้วยกันคือชุลี เธอเลือกที่จากแผ่นดินเมืองลอง มาอยู่อย่างปกติสามัญ เพราะปัญหาภายในครอบครัว ที่บิดามีภรรยามากมาย และสร้างปมในใจของชะไม จนไม่ต้องการจะทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นอีก

กฤษฎาเองก็เป็นเพียงนักหนังสือพิมพ์ตัวเล็กๆ ที่อยากจะเป็นปากเสียงให้กับประชาชน

“คุณเห็นเป็นเรื่องของธรรมดาหรือที่ข้าราชการโกงกั้นสะบั้นหั่นแหลก โกงกันตั้งแต่ตัวใหญ่ที่สุดจนถึงเล็กที่สุด การกระทำของเขาไม่ควรเอาคำ “ราช” มาเติมให้สกปรกเลอะเทอะไปด้วย บางคนทำงานชนิดที่เราควรเรียกว่า “ข้าทาสการ” มากกว่า เขารับใช้นักการเมืองทุกอย่าง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่ประชาชน คนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้รับใช้ประชาชน ไม่ได้ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน แต่เขามาเป็นนายเหนือหัว เป็นสมุนของศัตรูที่ฉวยโอกาสเข้ามายึดครอง…”

และการเขียนบทความโจมตีและเปิดโปงเหล่านี้นั่นเอง ที่ทำให้กฤษฎาถูกจับกุมตัวไปสอบสวน และทรมานให้รับสารภาพด้วยวิธีการอันโหดเหี้ยมที่เรียกว่า ‘ถลกเหงือกปลาหมอ’ เพื่อตราหน้าว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นกบฏ และเป็นภัยร้ายต่อชาติบ้านเมือง โดยมี ภาสน์ วันชัย ทนายความที่เป็นเพื่อนของชะไม พยายามหาทางช่วยเหลือ โดยเฉพาะเมื่อถึงวันพิพากษาต่อศาล

“กฤษฎาถูกทรมานด้วยการถอดเสื้อผ้าออกหมด และฝ่ายสอบสวนก็ถือมีดโกนเข้าไปถามไป ตะคอกไป ทุกครั้งที่ปฏิเสธ เขาจะใช้มีดโกนนั้นกรีดจนหนังขาดเป็นริ้วๆ เหมือนถลกเหงือกปลาหมอ ถึงจะเจ็บปวดเจียนจะขาด แต่กฤษฎาก็ยังไม่ยอมรับ จนกระทั่งเขาสลบไปอีก จนฟื้นขึ้นมา พวกนั้นก็ให้เขาสวมใส่เสื้อผ้า เพื่อปกปิดร่องรอยทั้งหมด”

 จนเมื่อศาลถาม ภาสน์จึงเอากางเกงในเปื้อนเลือดที่กฤษฎาแอบเก็บไว้ส่งมาให้เขา และภาสน์ก็นำมาเป็นหลักฐานต่อศาล และนั่นเอง ที่ทำให้เขาหลุดรอดข้อหาอุกฉกรรจ์เหล่านั้นมาได้อย่างหวุดหวิด

เขาเดินทางไปกับชะไม เพื่อย้ายไปยังเมืองลองของเธอ และเพื่อแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน ด้วยหวังว่า สถานการณ์และความอยุติธรรมเหล่านั้น คงจะมีเฉพาะในประเทศนี้เท่านั้น แต่แล้วเขาก็พบว่ามันไม่ใช่เลย!

ที่นั่นก็ไม่ได้แตกต่างไปกับที่ที่เขาจากมา ยังเต็มไปด้วยความอยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมในสังคม และด้วยอุดมการณ์ความคิดและเจตนาแรงกล้าที่ไม่เคยเปลี่ยน เขาต้องเผชิญหน้าทั้งกับนายตำรวจที่เคยมีเรื่องกันมาแล้ว และองค์เจ้าหลวงของเมืองลองแห่งนี้ ท้ายสุด กฤษฎาก็ต้องพ่ายแพ้ เมื่อถูกฝูงชนที่บ้าคลั่งเข้ารุมทำร้ายจนเสียชีวิต และชะไมเข้าไปปกป้องเขาก็ต้องจบชีวิตลงด้วยเช่นกัน…

รูปวาด ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์

เรื่อง คืนนั้นพระจันทร์เป็นสีเลือด ที่เปิดเรื่องมาตอนแรกเหมือนนวนิยายแนวโรแมนติกพาฝัน เมื่อกัปตันเรือตังเก นามกัปตันเจิม หนุ่มใหญ่ที่ไว้หนวดเคราเอาพรางรูปโฉมที่แท้จริง กำลังออกเรือพร้อมสมุนพรรคพวก และเผชิญกับเรือล่ม เขาได้ช่วยชีวิตหญิงสาวและลูกชายของเธอเอาไว้ได้อย่างหวุดหวิด

เธอมีชื่อว่า บุนฑริก สุริยา ภรรยาของ พันตำรวจตรีเชิดศักดิ์ สุริยา และเด็กชายป้อม ลูกชายตัวเล็กของเธอ แม้ว่าท่าทางเขาจะห่างเหินเย็นชา แต่ก็มีน้ำใจไมตรี คอยช่วยเหลือทั้งเธอและลูกชาย จนตาป้อมเองก็ติดกัปตันเรือหนุ่มใหญ่ผู้นี้

บนเรือตังเกลำนั้นเอง ท่ามกลางพายุที่โหมกระหน่ำ มันทำให้เธอล่วงรู้ความลับเกี่ยวกับ นายกัปตันเครา หรือเจิม ผู้นี้เข้าโดยบังเอิญ และในขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เธอมองเห็นความเป็นจริงของชีวิตบางอย่างเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

หล่อนรู้สึกว่า ชีวิตอันหรูหราฟุ่มเฟือยของหล่อนที่แล้วมาหาได้มีคุณค่าในเนื้อแท้ของชีวิต แต่ประการใดไม่ ในเมื่อหล่อนต้องอยู่ในฐานะภรรยาตามกฎหมาย ที่ขาดการพะเน้าพะนอ เอาอกเอาใจตามสมควร

และเมื่อบุรุษหนุ่มใหญ่กัปตันเจิมได้เข้ามาในชีวิต ก็ทำให้หล่อนเกิดความรู้สึกขึ้นมาในอีกรูปแบบหนึ่ง หากด้วยมโนธรรมศีลธรรมที่ต่างรั้งดึงเอาไว้ เพื่อมิให้ก้าวข้ามเส้นแบ่งนั้นออกไป และตราบจนกระทั่งเขาพาเธอมาส่งขึ้นฝั่งโดยปลอดภัย เมื่อได้พบกับสามี และเกือบต้องสูญเสียตาป้อมไปในพายุ หาก ‘เขา’ ก็เป็นฝ่ายช่วยเหลือลูกชายเธอจนปลอดภัย และจากไปอย่างเป็นปริศนา

เขาคือ นาวาตรีธม ธานิน นายทหารที่มีส่วนร่วมในกบฏแมนฮัตตัน และเผชิญหน้ากับเชิดศักดิ์ และหายสาบสูญไปนั่นเอง

เรื่อง : หนี้ที่ต้องชำระ

ผู้เขียน : ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์

สำนักพิมพ์ : ผดุงศึกษา

ปีที่พิมพ์ : ไม่ปรากฎปีที่พิมพ์

เล่มเดียวจบ

เรื่อง แผ่นดินเลือด นิยายเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอุดมการณ์ เช่นเดียวกับเรื่องแรก หากแต่เป็นอุดมการณ์ที่เคลือบแฝงด้วยผลประโยชน์ ของ ระวี บุญโรจน์ โดยรับเงินค่าจ้างจากกลุ่มนักการเมืองอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อโจมตีนักการเมืองของฝั่งรัฐบาล และด้วยคุณสมบัติของการเป็นนักพูดที่มีวิธีการพูดจูงใจคน ทำให้เขาสามารถปลุกระดมมวลชน ให้เกิดการชุมนุมประท้วงต่างๆ เกิดขึ้น

ระวีอยู่กินกับเอมอร ซึ่งเป็นครูโรงเรียนราษฎร์แห่งหนึ่ง และมีลูกสาวตัวน้อยๆ คนหนึ่ง แต่เขาเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับหล่อนและลูกนัก แม้ว่าเอมอรจะซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อเขามากเพียงใด แต่หล่อนเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการกระทำของเขา ทั้งคู่มีเรื่องขัดแย้งกันในเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง เอมอรพยายามพูดเตือนสติให้ แต่ระวีก็มีอัตตาสูงเกินกว่าจะรับฟังผู้หญิงธรรมดาๆ อย่างเธอ

“คุณวีคิดอย่างนั้น ก็หมายความว่าต้องทรยศต่อคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนเสียตั้งแต่ยังไม่ลงมือทำงาน ไม่เห็นแก่ประชาชนบ้างหรือ?”

“แล้วกัน เธอนี่บ้าไปได้ ในสมองคงเพ้อคลั่งอยู่เรื่อยว่าอะไรก็ต้องเป็นของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน เหมือนอย่างพวกท้องแห้งทั้งหลายพร่ำเพ้อกัน ประชาชนมันมีความหมายอะไรนักหนาเชียว พูดก็แทบไม่รู้เรื่อง เขายุให้เฮไปทางไหน ก็เฮไปทางนั้น มัวเกาะอยู่กับประชาชนก็เหี่ยวแห้งตายเหมือนไม้ตายซากนั่นแหละ สมมติว่าเราทำทุกอย่างเพื่อประชาชน พอถึงคราวลำบากหรือเดือดร้อน เคยมีมั่งไหมที่ประชาชนยื่นมือเข้าช่วยเหลือเรา เห็นแต่ปล่อยให้คนที่ช่วยเหลือประชาชน ประสบเคราะห์กรรมไปตามเพรง…”

“แต่การเสียสละย่อมไม่หวังผลตอบแทน”

“ฉันก็ไม่หวังหรอก เพราะฉันเองก็ไม่คิดจะเสียสละเพื่อใคร”

และแล้วการไฮปาร์กเพื่อปลุกปั่นโดยมีเขาร่วมขบวนด้วยก็เริ่มต้นขึ้น เพื่อโจมตีรัฐบาลในประเด็นต่างๆ เหตุการณ์ยิ่งทวีความเขม็งเกลียวเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ เมื่อคลื่นมนุษย์เข้ามาร่วมขบวนประท้วงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็เกิดการปะทะและนองเลือดขึ้น

และแล้ว เมื่อเกิดการจลาจลตามสิ่งที่เขาได้รับมอบหมายภารกิจมา ระวีก็เลี่ยงออกจากที่ชุมชน เพื่อกลับมายังบ้านของเขา เพื่อมาพบว่ายายอี๊ดลูกสาวของเขาก็ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม เมื่อกลุ่มคนที่ปะทะกับฝ่ายตรงกันข้ามบุกหนีเข้ามาหลบภายในบ้าน โดยที่เอมอรไม่อาจต้านทานไว้ได้ และเจ้าหน้าที่ปราบปรามก็ยิงกระสุนออกไป

และเหยื่อรายหนี่งในนั้นก็คือยายอี๊ด ลูกสาวตัวน้อยของเขาที่ไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลยแม้แต่น้อย!

ระวี บุญโรจน์ เข้าใจทุกอย่างแล้ว…

“เขาเริ่มสำนึกได้ว่า ความเป็นสัตว์ป่าของมนุษย์เรานั้นมีอยู่เสมอในจิตใจ มันถูกกักเก็บไว้เพราะกฎหมาย เพราะจารีตประเพณี และอารยธรรม พอมันได้โอกาสเป็นสิ่งที่เป็นกรอบบังคับเหล่านั้นพังทลายลง สันดานสัตว์ป่าก็จะระเบิดตูมออกมาทันที เขาเองเป็นผู้ที่ไปรื้อกรอบบังคับสันดานสัตว์ป่าลง และมันก็มีผลกระเทือนมาถึงเข้าด้วย… ไม่มีหรอกสัตว์ป่าจะรู้จักงดเว้นการทารุณแก่ใคร ถ้ามันมีโอกาสที่จะทำได้ และใครผู้นั้นมิได้มีผลประโยชน์กับมัน…”

เขากลับไปที่ลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกครั้ง พร้อมกับอุ้มร่างที่ไร้วิญญาณและชุ่มไปด้วยโลหิตของหนูอี๊ดเอาไว้ และคราวนี้ เขาเดินนำหน้าประชาชนทุกคน พุ่งตรงไปยังเบื้องหน้าโดยปราศจากอคติที่เคยมีมาแต่แรก มันหมดสิ้นไปแล้ว พร้อมกับความตายของลูกสาวสุดที่รัก

 

เมื่อได้อ่าน หนี้ที่ต้องชำระ จบสิ้นลง ผมพบว่างานเขียนช่วงแรกของคุณศรีรัตน์มีความเข้มข้น สะท้อนชีวิตในด้านมืด รวมถึงกิเลสตัณหาของมนุษย์ ทั้งในฝ่ายของผู้ถูกกระทำอย่างกฤษฎาหรือผู้กระทำอย่างระวี แม้ว่ารสชาติของความรักอันหวานชื่นมีผสมผสานอยู่บ้าง อย่างในเรื่อง คืนนั้นพระจันทร์เป็นสีเลือด แต่ก็ยังมีประเด็นความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมและการยับยั้งชั่งใจของตัวละครเอกทั้งสองมาเป็นเงื่อนไข ซึ่งแตกต่างจากงานเขียนในยุคต่อมา ที่ตอบสนองต่อผู้อ่านในด้านความรื่นรมย์อย่างชัดเจนมากกว่าครั

Don`t copy text!