อีสา

อีสา

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

วรรณกรรมอมตะเรื่องนี้ ถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์หลายครั้ง และตามมาด้วยภาคต่อ รวีช่วงโชติ ในอีกหลายปีต่อมา แต่เวอร์ชันที่หลายคนน่าจะจดจำได้เป็นอย่างดี น่าจะเป็น อีสา ที่รับบทโดย อภิรดี ภูวภูตานนท์ รัชนีกร พันธ์มณี ทางช่องเจ็ดสี และล่าสุด ก็คือเวอร์ชันทางช่องวัน ที่นำแสดงโดย วรนุช ภิรมย์ภักดี ในบทของอีสาเช่นกัน รวมถึงเพลงประกอบละครที่ไพเราะติดหูมาจนถึงปัจจุบัน

ผ่านมา… ผ่านไป  ฤๅหัวใจไม่เคยหยุดพัก

เสาะหาเรื่อยมาความรักรัก  ได้ประจักษ์แล้วเลยพ้นไป

จะมีสักหนบ้างไหมคนที่ยอมมอบใจ

ด้วยรักเข้าใจความหมายหมาย    เหนือความใคร่ดับไฟปรารถนา

‘สีฟ้า’ ได้เปิดฉากของอีสาด้วยการแสดงฉากชีวิตอันชัดเจนของตัวเอกผู้นี้ตั้งแต่เริ่มจำความได้

อีสาเกิดมาในสมัยที่เขาเลิกทาสกันแล้ว แต่ฐานะไม่ดีกว่าทาสเท่าไรนัก เพราะในวังที่อีสาอาศัยบารมีท่านอยู่นั้น ถึงแม้จะเลิกทาสไปแล้ว แต่บรรดาทาสหลายต่อหลายคนซึ่งยังไม่มีที่จะไปก็ยังสมัครใจอยู่ใต้บารมีท่านนับด้วยจำนวนสิบๆ…

ภายในเขตรั้ววังอันใหญ่โต อีสารับรู้ว่าท่านเป็นหม่อมเจ้า พระนามหม่อมเจ้าโชติช่วงรวี รวีวาร ที่มีพระชนม์ล่วงสี่สิบและยังมีหม่อมอีกหลายคน โดยมีหม่อมพริ้มเป็นหม่อมใหญ่ หม่อมทุกคนล้วนมีแต่ธิดาให้กับท่านชาย อีสาเองก็อาศัยอยู่กับยายเจิมเพียงสองคน ใครจะรู้ว่าจากชีวิตเด็กรับใช้ในวัง เมื่อเติบโตเป็นสาวรุ่น โชคชะตาจะบันดาลให้อีสาเกิดถูกพระทัยท่านชาย จนได้เข้ามาเป็น ‘หม่อมสา’ หม่อมคนสุดท้ายในพระชนม์ชีพ…

ต่อมา เมื่ออีสามีลูกชายให้กับท่าน แต่แล้วลูกของอีสา ก็ต้องถูกยกให้กับหม่อมพริ้มโดยไม่อาจขัดขวาง ลูกของสาจึงเป็นหม่อมราชวงศ์รวีช่วงโชติ รวีวาร ตั้งแต่ยังไม่รู้ความใดๆ และหลังจากนั้นไม่นานท่านชายก็สิ้น… ชีวิตของอีสาพลิกผันอีกครั้ง เมื่อมีสมศักดิ์ หนุ่มน้อยวัยเดียวกันเข้ามาในชีวิต เขาหลงรักคุณหญิงโสภาพรรณวดี ธิดาคนที่สามของหม่อมพริ้ม และความหลงหรือคารมของเขากระมังที่ทำให้อีสาเป็นแม่สื่อชักนำให้ทั้งสองได้รู้จักและรักกัน จนออกอุบายหนีออกจากวังไป และอีสาก็ตามไปพร้อมกับคุณหญิง โดยเพิ่งรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ลูกคนที่สองติดมาด้วย

คุณหญิงเมตตาปรานีต่อสา แม้จนกระทั่งรับเอาลูกของสามาเลี้ยง และรับเป็นลูกของตัวเองแทน เด็กหญิงโสภิตพิไลจึงถือกำเนิดขึ้นและเข้าใจมาตลอดว่าสาเป็นเพียงป้าของตัวเอง แทนที่จะเป็นแม่ ส่วนอีสาเองก็มีโอกาสได้เป็นนางละครในคณะละครร้องยุคนั้นและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอุษาวดี แต่แล้วพรหมลิขิตก็ขีดชะตาอีกครั้ง อีสาได้เสียกับคุณสมศักดิ์ เมื่อคุณหญิงโสภาไม่อาจให้ความสุขทางเพศรสแก่เขาได้…

อีสาพยายามที่จะขัดขืนความต้องการของนายสมศักดิ์และของตนเอง ใจนั้นอยากจะดิ้นรนให้พ้น แต่ร่างกายและแขนมันดูช่างไม่เป็นไปกับใจเสียจริงๆ มันอ่อนเปลี้ยไปหมดทุกส่วน ไอจากตัวนายสมศักดิ์ร้อนผ่าวเหมือนอยู่ใกล้กองเพลิง …

ความปรารถนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในของบุคคลทั้งคู่นั้น เปรียบเสมือนถ่านไฟระอุ เมื่อเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมช่วยเป็นใจเข้าด้วย ก็เสมือนมีเชื้อไฟและมีลมช่วยพัดกระพือ ดังนั้นท่ามกลางความมืดและเสียงระเบิดเสียงปืนเป็นระยะๆ ตัณหาราคะจึงเป็นฝ่ายชนะมนุษย์ปุถุชนทั้งสองโดยเด็ดขาด!

คุณหญิงโสภารู้เรื่องนี้ในภายหลัง และเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์จนเสียชีวิต ด้วยความผิดจากมโนธรรม อีสาตัดสินใจหนีจากคุณสมศักดิ์มาแต่งงานกับนายวิทย์ นักดนตรีที่เข้ามาติดพัน และภายหลังจากนั้นไม่นาน อีสาก็รู้ข่าวร้าย สมศักดิ์เสียใจจนเมาเหล้าหนัก และจมน้ำตายในคืนวันหนึ่งนั้นเอง…

ชีวิตของอีสาพลิกผันอีกครั้งเมื่อมาอยู่กับครอบครัวนายวิทย์ ความรักของเขาช่างบริสุทธิ์สะอาด แตกต่างกับความต้องการในรสโลกีย์ของอีสาที่ไม่อาจได้รับการตอบสนองอย่างเต็มอิ่ม อีสาเผชิญกับความท้าทายอีกครั้ง เมื่อมีโอกาสรู้จักกับเซกิ ชายชาวญี่ปุ่น และอีสาก็พ่ายแพ้อารมณ์ของตัวเองอีกครั้ง…

เซกิหลงรักอีสา เขาต้องการแต่งงานกับเธอ แม้จะรู้อยู่แล้วว่าอีสาจดทะเบียนแต่งงานกับนายวิทย์ อีสาเองก็ต้องการหย่าขาดกับนายวิทย์ เขาเป็นคนดีเกินไปสำหรับเธอ และแล้วสงครามก็ยุติลง เมื่อญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และยกกองทหารออกจากเมืองไทย เซกิเองก็เดินทางกลับญี่ปุ่น และเขาก็มอบมรดกจำนวนหนึ่งทิ้งไว้ให้กับอีสาเพื่อให้เธอสามารถตั้งตัวได้ อีสาหย่าขาดจากนายวิทย์ และจากนั้นชีวิตใหม่ของอีสาในพระนครยุคใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น…

บัดนี้อีสาหรือคุณอุษาในวัยสี่สิบเศษ เป็นสาวใหญ่วัยสะพรั่งที่เป็นเจ้าของคาบาเรต์ หรือไนต์คลับในปัจจุบัน มีคนรักเป็นหนุ่มน้อยวัยอ่อนกว่า และโสภิตพิไลก็ถูกส่งไปอยู่ยังโรงเรียนประจำจนเติบโตเป็นเด็กสาววัยแรกรุ่น โสภิตพิไลเรียกสาว่าป้าอุษา และมีท่าทางมึนตึงกับอีสาด้วยความรู้สึกฝังใจมาตั้งแต่เด็ก แม้จะทำให้อีสาปวดร้าวใจสักเพียงใดก็ตาม และแล้วโชคชะตาก็หมุนกงล้อของมันให้กลับคืนมาสู่จุดตั้งต้นอีกครั้ง เมื่อแขกชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งของไนต์คลับได้ก้าวเข้ามาหาและพบกับอุษา หรืออีสาโดยไม่คาดฝัน…

เขามีชื่อว่าหม่อมราชวงศ์รวีช่วงโชติ!!

หน่มนักเรียนนอก และกำลังจะเป็นผู้พิพากษาที่มีอนาคตไกล…

เรื่อง : อีสา

ผู้เขียน : สีฟ้า

สำนักพิมพ์ : คลังวิทยา

ปีที่พิมพ์ : 2512

สองเล่มจบ

รวีช่วงโชติเองก็ รู้สึกผูกพันกับสาวใหญ่ผู้นี้อย่างประหลาดในขณะที่อีสาที่ล่วงรู้ความจริงทั้งหมดก็กำลังเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายครั้งสำคัญในชีวิต… เมื่อทุกคนที่ไม่รู้ความเป็นจริงทั้งหมด กำลังเข้าใจว่าอีสาตั้งใจจะหลอกจับหม่อมราชวงศ์หนุ่มรูปงามผู้นี้

จากคำนำของสำนักพิมพ์เพื่อนดีที่นำอีสามาพิมพ์อีกครั้งในเดือนธันวาคม 2555 เกือบกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ได้เขียนไว้ว่า

ชีวิตของอีสาดูราวจะผิดมาตั้งแต่เกิด ผิดปกติทั้งทางธรรมชาติในการควบคุมอารมณ์ของอีสาเอง และผิดที่กระทำบาปต่อผู้อื่น จะโทษธรรมชาติดังว่าหรือเวรกรรมที่ปล่อยอีสาไว้บนโลกเร้นลับแห่งโลกียสุขอย่างไร้ที่ยึดเหนี่ยวก็ไม่รู้แน่

โดยชาติกำเนิด อีสาถูกเรียกว่าไพร่… ในยุคสมัยที่ไม่มีทาสแล้ว อีสาไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่กลับรู้ซึ้งถึงอิสรภาพของตัวเองดีทั้งตัวและหัวใจ ดังนั้นอีสาจึงเผชิญโลกอย่างโลดโผนไม่หยุดนิ่ง มีความง่าย เป็นจุดเริ่มต้น และอาศัยความบกพร่องของอารมณ์เป็นแรงกระตุ้น ปล่อยให้อำนาจฝ่ายต่ำดึงตัวลงสู่นรกในใจ… จนแทบจะสายเกินเยียวยา

และด้วยบทสรุปที่ชัดเจนว่า…

อย่างน้อย ‘อีสา’ ได้บอกผู้อ่านว่า เกิดเป็นมนุษย์ไม่ได้ง่ายเลยในการต่อสู้กับใจและมโนธรรมของตน การลุ่มหลงมัวเมา เป็นทาสกิเลสตัณหา โดยโยนความผิดให้ธรรมชาติและบาปเคราะห์นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาเอ่ยอ้างหรือแก้ตัว การฝึกใจให้รู้จักยับยั้งชั่งคิด ใฝ่ดีทำดีนั่นกระมังที่ดูจะเป็นคำตอบ ที่ทำให้บรรลุความหมายของการมีชีวิตบนโลกโดยสงบ และเบียดเบียนผู้อื่นน้อยที่สุด

หมายเหตุ : สำหรับภาพประกอบละครอีสา (พ.ศ. 2531) ผมนำมาจากเพจของ ภาพจากหนังสือเรื่อยงย่อละครไทย Moouanbook ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

 

Don`t copy text!