บุญทำกรรมแต่ง

บุญทำกรรมแต่ง

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

บรรณาภิรมย์ โดย หมอกมุงเมือง คอลัมน์ที่อ่านเอาขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ และเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้ครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

****************************

สำหรับนามปากกา ‘อรุณมนัย’ นั้น ก็คือ คุณอรุณ (มณีสะอาด) นนทแก้ว ท่านเป็นศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เกิดเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2483 ณ จังหวัดสงขลา มีผลงานนวนิยาย ในอดีตที่รู้จักกันดี เช่น อุดมการณ์บนเส้นขนาน ซึ่งเรื่องนี้เคยเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาระดับมัธยมศึกษาในช่วงเวลาหนึ่ง นอกจากนั้น ก็มีผลงานเด่นๆ อย่าง ในสวนศรี และ ไฟสิ้นเชื้อ สำหรับ บุญทำกรรมแต่ง จัดเป็นนวนิยายขนาดสั้นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นผลงานที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงไล่เลี่ยกัน แต่ไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก

อรุณมนัยได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือ นักเขียนชาวอักษรศาสตร์ ว่า ท่านเขียนหนังสือเพราะอยากเขียน อยากเห็นชื่อของตัวเองได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ แนวการเขียนได้จากชีวิตจริง ประสบการณ์ ความสุจริตใจ อารมณ์ขัน ชอบเขียนเรื่องสั้นหรือเรื่องสั้นขนาดยาวมากกว่าเรื่องยาว  โดยเรื่องสั้นที่ชอบที่สุดคือ ‘คุณปลัด’ ซึ่งบรรยายถึงมรรยาทและการแสดงออกของไทยธรรมดาๆ คนหนึ่ง ซึ่งไม่เคยสนใจเรื่องนี้โดยเฉพาะให้กับสุภาพสตรี

ส่วนเรื่องยาวเรื่องแรก ‘ในสวนศรี’ เป็นชีวิตวัยหนึ่งของสาวศรีหกคนในชนบทหรือ ‘หมู่บ้านทดลอง’ ซึ่งผู้เขียนเคยฝันไว้ อยากให้เมืองไทยมีหมู่บ้านตัวอย่างอย่างนั้นบ้าง เพื่อนำสังคมไทยส่วนใหญ่ให้ทำงานอย่างมีอุดมการณ์ และอยากให้เป็นข้อคิดแก่ผู้อ่านโดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาววันนี้

สมัยหนึ่งเคยประทับใจในเรื่องของเพื่อนคนหนึ่งมาก เลยเอามาสอดแทรกในการเขียน พอได้รับการตีพิมพ์ ได้รับจดหมายเจริญคุณเสียนอนไม่หลับไปหลายคืน และเข็ดตั้งแต่บัดนั้น ว่าจะไม่เอาเรื่องของใครมาเขียนอีก พอตั้งใจได้ดังนี้แล้ว ปรากฏว่ามีใครต่อใครเป็นขบวนยาวเหยียดมาพูดเล่นบ้างจริงบ้าง ให้เขียนเรื่องของเขาเป็นการใหญ่ ตอนนี้ชักมีคนอยากเป็นนางเอกมากจนเขียนไม่ออก และเขียนให้ไม่ได้ เพราะมากจนไม่รู้ว่าจะขึ้นต้นนางเอกคนไหนดี

อรุณมนัยได้ฝากข้อคิดแก่นักเขียนไว้สองข้อคือ

  1. รีบเขียนทันทีที่มีอารมณ์ ถึงจะไม่มีเวลาก็เถอะ
  2. รับผิดชอบในงานเขียนของตน ไม่ว่างานนั้นจะสำคัญหรือไม่สำคัญเพียงใดก็ตาม

สำหรับ บุญทำกรรมแต่ง เรื่องนี้ จากคำนำของผู้เขียนได้กล่าวไว้ว่าเป็นนวนิยายที่เขียนขึ้น เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ที่เคยล้มเหลวในชีวิตมาแล้ว หรือท้อถอยหมดกำลังใจในการทำความดี เพราะอย่างน้อยมนุษย์ด้วยกันไม่แลเห็น แต่ตัวเราเองรู้ เห็น และ เข้าใจ!

นวนิยายเรื่องนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร สตรีสาร ซึ่งชื่อเรื่องได้รับความกรุณาจาก อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง บรรณาธิการนิตยสารฉบับดังกล่าว เป็นผู้ตั้งให้

เรื่อง : บุญทำกรรมแต่ง

ผู้เขียน : อรุณมนัย

สำนักพิมพ์ : บรรณกิจ

ปีที่พิมพ์ : 2518

เล่มเดียวจบ

เรื่องราวของ บุญทำกรรมแต่ง บอกเล่าถึงชีวิตของพ่อม่ายลูกห้าวัยสามสิบเศษนาม พันตรี นายแพทย์ทะแกล้ว พลาดิศัย ซึ่งทำงานอยู่ในโรงพยาบาลค่ายทหาร จังหวัดนครราชสีมา และใช้เวลาส่วนหนึ่งเปิดคลินิกในตัวเมือง นายแพทย์หนุ่มรูปงามผู้นี้แม้ว่าจะมีเรือพ่วงถึงห้าลำ ประกอบด้วย ปราการ ประสานสิริ กิติภัทร ณัฎฐอาภา และศาสวัตในวัยเพียงสี่ขวบที่ติดพ่อเป็นอย่างมาก แต่ก็แน่นอนว่า ภายในตัวเมืองแห่งนั้นจะมีทั้งสาวน้อยสาวใหญ่ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา รวมถึงกฤษณีสาวสวย ที่เป็นลูกสาวคหบดีขึ้นชื่อของจังหวัดด้วยเช่นกัน

ด้วยอัธยาศัยไมตรี ความร่าเริง และความเป็นกันเองของหล่อน ทำให้ทะแกล้วสนิทสนมกับกฤษณีเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันเขาก็มีโอกาสได้พบกับคนไข้สาวอีกคนหนึ่ง ที่มีบุคลิกลักษณะตรงกันข้ามกับกฤษณีโดยสิ้นเชิง

หล่อนมีชื่อว่า ครูพิณจรัส สุสาทร แต่แรกเขามองหล่อนเป็นเพียงผู้หญิงบ้านๆ ที่ไม่ได้แต่งตัวสวยงาม ท่าทางอมทุกข์โศก เหมือนคนแบกรับความเหน็ดเหนื่อยตลอดเวลา เขาเองก็ได้ให้ความเมตตา ช่วยเหลือเธอด้วยวิสัยแพทย์ที่มีต่อคนไข้ แต่แล้วเมื่อได้เริ่มรู้จักสนิทสนมกันมากขึ้น ทะแกล้วจึงรู้ว่าเธอมีภาระรับผิดชอบในชีวิตเป็นอย่างมาก และยังมีพี่น้องอีกหลายคน แม้ว่าพิณจรัสจะเป็นที่รักของนักเรียนในโรงเรียนศรีวิทยาที่หล่อนสอนอยู่มากก็ตาม ในขณะที่กฤษณีเองที่เข้ามาติดพันในชีวิตของเขา หล่อนก็เริ่มรับรู้ว่าเข้ากับลูกๆ ทั้งห้าของเขาไม่ได้ แม้ว่าจะรู้สึกชอบทะแกล้วมากสักเพียงใด

ความรักที่เริ่มต้นและงอกงามขึ้นมาของพิณจรัสกับนายแพทย์ทะแกล้ว มีปัญหาจากคนในครอบครัวของหล่อน ด้วยความรู้สึกเป็นอคติแบบเดียวกันว่าเขาเป็นพ่อม่ายลูกติดถึงห้าคน เห็นจะมีเพียงพี่กุล พี่ชายคนโตของเธอ ที่เข้าใจในตัวน้องคนนี้เท่านั้น ในจังหวะนั้นเองที่เธอได้รับทุนไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา การทดสอบความรักที่ห่างไกลกัน ระหว่างเขาและเธอจึงเริ่มต้นขึ้น

ที่แมริแลนด์ ดินแดนอันเงียบเหงา ห่างไกลเมืองไทย โดยมีประอรนุชและสายสนม เพื่อนนักเรียนไทยอยู่ที่นั่น ทั้งคู่เป็นสหายสนิทช่วยคลายความเหงาลงไปได้มาก นอกจากนี้พิณจรัสยังได้รับจดหมายติดต่อจากหมอทะแกล้วอย่างสม่ำเสมอ โดยที่พี่น้องของเธอไม่รู้เรื่อง ต่างคิดว่าเธอกับเขาเลิกรากันไปแล้ว จนทะแกล้วได้ทุนมาศึกษาต่อที่เทกซัส แม้จะเป็นประเทศเดียวกัน แต่ก็อยู่กันคนละมลรัฐ ทั้งคู่ก็ยังติดต่อถึงกันมาโดยตลอด และในโอกาสหนึ่งที่เขาและเธอได้พบกัน พิณจรัสเดินทางไปยังเมืองที่หมอทะแกล้วอาศัยอยู่ เมื่อนั้นทั้งคู่ต่างก็ค้นพบว่ามีความรักและคิดถึงกันมากมายสักเพียงใด

ประอรนุชเป็นหญิงสาวที่กล้าแกร่งจนเหมือนกับไม่หวั่นไหวใดๆ กับความรัก แต่ภายหลัง พิณจรัส เพิ่งรู้ว่าประอรนุชก็อกหักจากเทวัญ ชายคนรักที่เมืองไทยของเธอเช่นกัน เขาตัดสินใจแต่งงานกับหญิงสาวคนหนึ่งที่เป็นลูกเศรษฐี ในตัวเมืองที่มีชื่อว่ากฤษณีนั่นเอง

เพื่อนรักทั้งสองต่างเป็นกำลังใจให้กับเธอ จนกระทั่งพิณจรัสเรียนจบแล้วกลับมาที่เมืองไทย หล่อนและทะแกล้วสัญญาว่าจะแต่งงานใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แต่แล้วอุปสรรคเดิมก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อทั้งพรจรีย์และพงศ์จรัล น้องสาวและน้องชายของเธอ ต่างไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากบรรดาลูกๆ ทั้งห้าของเขา ที่เกิดอคติกับเธอ โดยเฉพาะศาสวัต น้องเล็กวัยสี่ห้าขวบ ที่คิดว่าพิณจรัสจะมาแย่งความรักทั้งหมดของพ่อไปจากพวกเขา

ความดีงาม ความตั้งใจ และความอดทนเท่านั้นที่จะพาให้พิณจรัสและทะแกล้วข้ามผ่านเรื่องราวเหล่านั้นไปได้…

นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่เหมือนกับการบอกเล่าชีวิตผ่านตัวละครแต่ละตัว โดยมีพิณจรัสเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวทั้งหมด หญิงสาวต้องรับรู้ปัญหาต่างๆ ของคนรอบข้าง รวมถึงแบกรับปัญหาด้วยความอดทนอดกลั้นโดยซ่อนตัวตนความรู้สึกทั้งหมดเอาไว้ภายใต้สีหน้าอมทุกข์ ไร้ความรู้สึกเหมือนกับเป็นหุ่นไร้ชีวิต อย่างที่ทะแกล้วใช้เรียกเป็นชื่อคนรักของเขา

หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป และเธอเริ่มได้มีโอกาสเปิดใจกับเขาแล้ว เราจึงได้เห็นมุมมองอีกหลายด้านๆ ทั้งความรัก ความหึงหวงอันเป็นอารมณ์ของปุถุชนที่มีต่อชายคนรัก ในขณะที่พันตรีนายแพทย์ทะแกล้วเองก็เหมือนเป็นขั้วตรงข้าม เขาเป็นคนร่าเริง มองโลกในแง่ดี และเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ทำให้ช่วยประคับประคองใจของกันและกัน แม้ว่าจะมีอุปสรรคต่างๆ ผ่านเข้ามาทดสอบอย่างหนักหนาสาหัสสักเพียงใดก็ตาม

การอ่าน บุญทำกรรมแต่ง ในครั้งนี้ อาจจะไม่ได้ให้รสชาติของความหวานชื่นโรแมนติกของความรักจากตัวละครเพียงอย่างเดียว แต่ในความหลากหลายรสชาติแห่งชีวิตเหล่านั้นก็มีความเข้มข้น ด้วยฝีมือการประพันธ์ของผู้เขียน ทำให้เรื่องราวของพิณจรัสมีทั้งความน่าสนใจ และสีสันที่ชวนติดตาม รวมถึงได้ลุ้นไปกับความรักของเธอกับหมอทะแกล้ว ตราบจนถึงบทอวสานเลยทีเดียวครับ

ภาพของ ดาวจริยาและอรุณมนัย

ปัจฉิมลิขิต : สำหรับภาพนักเขียนที่นำมาประกอบในบรรณาภิรมย์ครั้งนี้ เป็นภาพถ่ายร่วมกันในอดีตของคุณอรุณมนัย ผู้เขียนนิยาย บุญทำกรรมแต่ง และคุณดาวจริยา ซึ่งเป็นนักเขียนชาวอักษรศาสตร์อีกท่านหนึ่ง

สำหรับคุณดาวจริยาหรือ อาจารย์จรรยา ถิ่นพังงา ท่านเป็นอดีตครูโรงเรียนวชิราวุธสงขลา และเป็นคู่ชีวิตของ อาจารย์ ดร. บันลือ ถิ่นพังงา แห่งมหาวิทยาลัยทักษิณ ในส่วนของอาจารย์บันลือนั้น หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับผลงานแปลนวนิยายเยาวชนเรื่อง เอมิลยอดนักสืบ ที่เป็นสำนวนการแปลของท่านกันเป็นอย่างดี และสำหรับหรับผลงานของ ‘ดาวจริยา’ ส่วนใหญ่จะตีพิมพ์ในหน้านิตยสาร สตรีสารหรือ ศรีสัปดาห์ เช่นเรื่อง กระติกลายสก๊อต วังบัวขาว ศัตรูแห่งเกียรติยศ หรือเรื่อง เดชานี ที่เคยนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์นั่นเองครับ

Don`t copy text!